15 ม.ค. 2562, 09:28 น.  3396 ครั้ง

หนทางปรับตัวรับมือปัญหาหมอกควัน 

          สถานการณ์หมอกควันในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เริ่มจากที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ขณะนี้ได้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ ผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้างในเวลานี้

          เห็นได้จากรายงานสถิติของหลายจังหวัดพบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้วจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และโรคตาอักเสบ แต่ เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีวิธีการปรับตัวเพื่อป้องกันและการดูแลตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองในอากาศมาแนะนำ

          ฝุ่นละอองในอากาศมีทั้งชนิดที่เป็นอินทรีย์และอนินทรีย์ ทั้งนี้ขึ้นกับแหล่งที่มาของฝุ่นละออง ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ความอันตราย ซึ่งอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศมักจะหมายถึงการทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ (allergic reaction) การอุดตันจนเกิดปอดอักเสบ (pneumonitis) และการเกิดพังผืดในปอด (fibrosis) ซึ่งส่วนมากเป็นอนินทรีย์สาร แต่จะไม่รวมอันตรายที่เกิดจากกลุ่มอินทรีย์สารที่เป็นกลุ่มโรคหรือสารพิษ เช่น เชื้อวัณโรค เชื้อแอนแทรกซ์ เชื้อไวรัสหัด เชื้อไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) เชื้อราชนิด Histoplasmosis หรือสารอินทรีย์เคมี เช่น ยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

          เมื่อฝุ่นละอองเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกาย เริ่มตั้งแต่เกิดอาการแพ้หรืออักเสบในโพรงจมูก โพรงไซนัส ช่องคอ และหลอดลม จนทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด เนื่องจากเมื่อฝุ่นละอองเข้าไปถึงส่วนที่อยู่ลึกที่สุดของทางเดินหายใจ ซึ่งก็คือถุงลมปอด เมื่อฝุ่นละอองสะสมเป็นปริมาณมากเกินกว่าความสามารถที่มาโครฟาจจะกำจัดออกไป ได้ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อปอด จนเกิดเป็นโรคปอดอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังก็จะทำให้เกิดพังผืด หรือเกิดรอยแผลเป็นภายในปอดได้ ปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาเหล่านี้ได้แก่ ปริมาณ ขนาด ชนิดของฝุ่นละออง รูปแบบการหายใจ อัตราการหายใจ และระยะเวลาที่หายใจอากาศที่มีฝุ่นละอองเหล่านี้

การป้องกันตนเอง คือ

          1. หลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นละอองของควันไฟโดยใช้หน้ากากอนามัย หรือผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำหมาดๆ ปิดปากปิดจมูก และสวมแว่นตาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
          2. หลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายและทำงานหนัก ที่ต้องออกแรงมากนอกบ้าน เพราะจะทำให้มีโอกาสสูดควันได้มากขึ้น     
          3. ปิดประตูหน้าต่างด้านที่รับลม ซึ่งพัดหมอกควันเข้าภายในบ้าน และเปิดประตูหน้าต่างด้านตรงข้ามกับทิศทางลม เพื่อลดหมอกควันและฝุ่นละอองที่เข้ามา และถ้าเป็นไปได้อาจมีภาชนะบรรจุน้ำไว้ที่หน้าต่างที่เปิด ซึ่งจะช่วยลดหมอกควันที่เข้ามาได้ดียิ่งขึ้น
          4. ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ งดการรองน้ำฝนไว้ใช้ดื่มกินชั่วคราว หากจำเป็นให้รองน้ำฝนหลังจากฝนตกไปแล้ว 1 ชั่วโมง เพราะฝุ่นควันที่มีจะลดลง เนื่องจากถูกชะล้างไปกับฝนในช่วงแรก และควรใช้น้ำสะอาดกลั้วคอแล้วบ้วนทิ้งวันละ 3 -4 ครั้ง ห้ามกลืน
          5. ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ควรพักผ่อนอยู่ในบ้าน และควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก แสบตา น้ำตาไหล ตาแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ให้รีบไปพบแพทย์
          นอกจากการปฏิบัติเพื่อดูแลสุขภาพตนเองแล้ว ที่สำคัญทุกคนต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยห้ามเพิ่มปริมาณหมอกควันในอากาศ เช่น ห้ามเผาขยะ เศษใบไม้ กิ่งไม้ จุดธูปเทียน หรือสูบบุหรี่ ส่วนเกษตรกรก็ต้องไม่กำจัดเศษวัสดุการเกษตร โดยการเผา ควรเปลี่ยนเป็นการกำจัดโดยทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลหรือผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์      

          สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคความดัน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ควรเตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและพกติดตัว เพื่อป้องกันและใช้รักษาเมื่ออาการกำเริบ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการประเมินสมถรรถนะ ครั้งที่ 1...
ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาและเลือกสรรพนักงานกองบิน ๔๑...
งานวันเด็กแห่งชาติ กองบิน ๔๑ พร้อมตารางกิจกรรม...
กองบิน 41 จะทำการเปิดจองพื้นที่จำหน่ายสินค้า งานวันเด็กแห่งชาติกองบิน 41 ประจำปี 2566...
ผลกระทบกรณีการเลื่อนจัดหา F-35...
อัลบั้มรวมภาพพระพุทธศาสดาประชานาถ...