สนามบินเชียงใหม่

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สนามบินเชียงใหม่ถูกใช้งานในภารกิจป้องกันภัยทางอากาศจากทางภาคเหนือของ ประเทศ และเพื่อสนับสนุนกำลังภาคพื้นของกองทัพพายัพ ซึ่งตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดลำปาง โดยมีพลอากาศตรีฟื้น ฤทธาคนี เป็นผู้บังคับกอง และพลตรีจรูญ เสรีเริงฤทธิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นแม่ทัพพายัพ ครั้งนั้นมีการจัดตั้งกองบินน้อยผสมที่ ๙๐ ขึ้นที่สนามบินเชียงใหม่ มีนาวาอากาศตรีเฉลิม พีระบูล เป็นผู้บังคับการกองบินน้อยผสมที่ ๙๐ คนแรก นำฝูงบินมาถึงสนามบินเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๙  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อประสานงานกับกองบินใหญ่ผสมภาคพายัพ  ฝูงบินที่บรรจุประจำการในกองบินนี้ประกอบด้วย ฝูงบินขับไล่ที่ ๒๒ (จากนครราชสีมา) มีเครื่องบินฮ๊อร์ค 2 (เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๙) จำนวน ๙ เครื่อง, ฝูงบินขับไล่ที่ ๔๒ (จากเนินพลอยแหวน จันทบุรี) มีเครื่องบินคอร์แซร์ (เครื่องบินโจมตีแบบที่ ๑) จำนวน ๑๐ เครื่อง เพื่อป้องกันการถูกยิงจากฝ่ายเดียวกัน ครั้งนั้นจึงใช้ธงช้างแทนธงชาติไทย แบบวงกลมที่บนและใต้ปีกเรือบิน และเครื่องบินแฟรไชล์ด 24 เจ (เครื่องบินสื่อสารแบบที่ ๑) ใช้งานทั่วไปจำนวน ๑ เครื่อง


เครื่องบินคอร์แซร์  เครื่องบินฮ๊อร์ค  และเครื่องบินขับไล่แบบฮายาบูซา

ต่อมากองทัพบกของญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่แบบฮายาบูซา ๒ กองบิน ๆ ละ ๓ ฝูง ๆ ละ ๒๕ เครื่องพร้อมเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนักอีก ๑ กองบิน รวม ๒๗ เครื่องมาปฏิบัติการในเขตเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง  ช่วงนั้นจึงต้องสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นหลายแห่ง เช่น ตำบลบ้านกลาง ลำพูน บ้านสันข้าวแคบ สันกำแพงและที่เชียงราย ลำปาง แพร่

     คนร่วมสมัยสงครามโลกครั้งที่สองในเชียงใหม่ต่างเคยเห็นหน่วยทหารปืนใหญ่ ต่อสู้อากาศยานตั้งอยู่ในเชียงใหม่หลายจุด เช่น สนามโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, ทุ่งนาบ้านป่าแพ่ง, ทุ่งช้างคลานด้านประตูระแกง (หล่ายแคง) ด้านที่ตั้งโรงแรมลานนาพาเลสปัจจุบัน, ทุ่งนาด้านตะวันตกของโรงพยาบาลสวนดอก เป็นต้น  แต่ละจุดมีหน้าที่ “สอย” เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร และหลายวัดมีกองทหารตั้งอยู่ เช่น วัดศรีดอนไชย, วัดหมื่นเงินกอง, วัดช่างเคี่ยน, วัดป่าตาล (ที่ตั้งกองบิน ๔๑ และโรงเรียนวัฒโนทัย), วัดป่าอ้อย (ที่ตั้งโรงเรียนวัฒโนทัย), วัดหมื่นสาร, วัดศรีสุพรรณ  เป็นต้น

     ในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา เครื่องบินรบฝ่ายสัมพันธมิตรแบบ มัสแตง พี-51 จากฝูงบินกองเสือบินของสหรัฐอเมริกาจากฐานทัพเมืองคุนหมิง จำนวน ๗ ลำ ภายใต้การบัญชาการของนายพลแคลร์ แอล เชนโนล์ด ได้ทิ้งระเบิดบริเวณสนามบินเชียงใหม่ นับเป็นการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในเชียงใหม่เป็นครั้งแรก และครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ที่บริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่หรือ”ปลายราง”คนตายจำนวนมาก ศพคนเมืองถูกนำไปกองพะเนินที่สุสานช้างคลาน ส่วนศพทหารญี่ปุ่นถูกนำไปไว้โรงพยาบาลชั่วคราวที่วัดหมื่นสาร ทรัพย์สินเสียหายมากมาย  และอีกสามเดือนต่อมาก็ถล่มครั้งที่ ๓ บริเวณหนองประทีป  นอกจากนั้นยังมีการโจมตีของข้าศึก เหนือสนามบินเชียงใหม่อีกไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง

     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองระยะแรก ฝ่ายสัมพันธ์มิตรประกาศมิให้มีการปฏิบัติการของเครื่องบินไทยเหนือแผ่นดิน ไทย จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๙  จึงมีการยกเลิกการห้ามบินของไทยในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ยุคของสงครามเย็น กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินโจมตีแบบที่ ๘ (เอที 6 จี) จากฝูงบินพิเศษที่ ๒ กองบินน้อยที่ ๑ ดอนเมือง จำนวน ๔ - ๖ เครื่อง มาปฏิบัติการชายแดนที่สนามบินเชียงใหม่เป็นระยะ คราวละ ๒ - ๖ เดือน ช่วงนี้มีการปรับปรุงสนามบินบินเชียงใหม่เป็นทางวิ่งดินอัดแน่น เป็นทางวิ่งขนาดกว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๑,๑๐๐ เมตร พื้นผิวลงหินลาดยาง มีหอบังคับการบินและฝ่ายดับเพลิง ตั้งอยู่หน้าบริเวณกองร้อยทหารสารวัตร กองบิน ๔๑ ปัจจุบัน

     ต่อมามีการจัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๕ (แบร์แคท) จากฝูงบินขับไล่ที่ ๑๒ กองบินน้อย ที่ ๑ มาทดแทนราว ๔ - ๖ เครื่อง
     ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ กองทัพอากาศได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในการปรับปรุงสนามบิน ทหาร ๔ แห่งที่อุดรธานี  อุบลราชธานี โคราช และเชียงใหม่  โดยปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งลานจอดพร้อมทางวิ่งขนาดกว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๒,๑๓๐ เมตร โดยสำรองหัวท้ายเป็นดินอัด อีกข้างละ ๑๖๐ เมตร เริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๐๓ พร้อมกับการสร้างอาคารสนามบินเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ระหว่างก่อสร้างจึงต้องปิดสนามบินเชียงใหม่เป็นเวลาประมาณ ๓ ปี

   


เครื่องบินโจมตีแบบที่ ๘ (เอที 6 จี) และเครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๗ (เอฟ – 86 เอฟ)

สนามบินเชียงใหม่เปิดใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๓  โดยกองทัพอากาศรับมอบสนามบินเชียงใหม่จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และใช้เป็นฐานบินสำหรับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นคือ เครื่องบินขับไล่แบบที่ ๑๗ (เอฟ – 86 เอฟ) จากฝูงบินขับไล่ที่ ๑๒ และ ๑๓ กองบินน้อยที่ ๑ ดอนเมือง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปฏิบัติภารกิจป้องกันภัยทางภาคเหนือ  โดยกองทัพอากาศอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ส่งเครื่องบินแบบ ฮันเตอร์ และเครื่องบินขับไล่แบบอื่นๆ มาประจำการที่สนามบินเชียงใหม่ด้วย

     ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาจากภัยคอมมิวนิสต์ กองทัพอากาศได้จัดตั้ง “ฝูงบินผสมที่ ๒๒๑” ขึ้นที่สนามบินเชียงใหม่ โดยมีการจัดเครื่องบินโจมตีและฝึกแบบ ๑๓ (บ.จฝ.๑๓ : ที 28 ดี) จำนวน ๗ เครื่อง จากฝูงบินที่ ๒๒ กองบิน ๒ จังหวัดลพบุรี มาประจำการ โดยมี นาวาอากาศโท ชาญ ทองดี เป็นผู้บังคับฝูงบิน

   


ครื่องบินโจมตีและฝึกแบบ ๑๓ (บ.จฝ.๑๓ : ที 28 ดี) และเครื่องบินโจมตีแบบ ๕ (โอวี – 10 C)

ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ( ๑ ตุลาคม) กองทัพอากาศยกฐานะฝูงบินผสมที่ ๒๒๑ ขึ้นเป็น “ฐานบินเชียงใหม่”  บรรจุอัตราผู้บังคับการฐานบินอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก มี นาวาอากาศตรี อาคม  อรรถเวทวรวุฒิ เป็นผู้บังคับการฐานบินเชียงใหม่คนแรก  ยังคงขึ้นการบังคับบัญชากับกองบิน ๒  และในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ ได้มีการบรรจุประจำการเครื่องบินโจมตีแบบ ๕ (โอวี – 10 C) ที่ฝูงบิน ๒๑ กองบิน ๒ จึงมีการจัดส่งเครื่องบินแบบนี้มาปฏิบัติการที่สนามบินพิษณุโลกและสนามบิน เชียงใหม่

     ฐานบินเชียงใหม่ถูกโอนไปขึ้นกับกองบิน ๔ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ และเปลี่ยนชื่อเป็น “กองบิน ๔ ฝูงบิน ๔๑” เมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๙

   


เครื่องบินขับไล่ฝึกแบบ ๑ (แอล – 39)

ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ยกฐานะเป็น “ กองบิน ๔๑ ” เมื่อ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ซึ่งถือเป็นวันสถาปนากองบิน ๔๑ และในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ ได้ปลดประจำการเครื่องบินโจมตีแบบ ๕ (โอวี – 10 C) และบรรจุเครื่องบินขับไล่ฝึกแบบ ๑ (แอล – 39) ทดแทน