เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๓ นาวาอากาศเอก นรุธ กำเนิดนักตะ ผู้บังคับการกองบิน ๔๑ พร้อมด้วยข้าราชการ กองบิน ๔๑ ร่วมพิธีฟังสารผู้บัญชาการทหารอากาศ ผ่านสัญญาณการถ่ายทอดสดจากกองทัพอากาศ (ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร) เนื่องในวันกองทัพอากาศ ประจำปี ๒๕๖๓ ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน ๔๑
โดย ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจกำลังพลของกองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ และอดทน รวมถึงขอขอบคุณในความร่วมมือร่วมใจของกำลังพล ที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างของกองทัพอากาศให้ยั่งยืน พร้อมทั้งให้โอวาทแก่กำลังพล ให้มีจิตใจที่เข้มแข็งในสภาวะของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำหน้าที่อย่างมีสำนักรับผิดชอบ มีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนให้กำลังพลพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างกองทัพอากาศ และประเทศชาติให้มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
ทั้งนี้ กิจการด้านการบินของไทย เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ เมื่อ นายชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินมาทำการบินแสดงให้ชาวไทยได้ชม ณ สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี กระทรวงกลาโหม ได้คัดเลือกนายทหาร ๓ คน ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ, นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต (เก-ตุ-ทัด) ซึ่งภายหลังนายทหารทั้ง ๓ ท่าน ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ”
ขณะที่นายทหารทั้ง ๓ กำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้งมีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน ๘ เครื่อง คือเครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น จำนวน ๔ เครื่อง และเครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน ๔ เครื่อง โดยใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบันเป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง ๓ ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอา ตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น
เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๒๗ มีนาคม
พ.ศ.๒๔๕๗ กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ” ในเวลาต่อมากำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่างๆ อันเป็นรากฐานของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้น
บทบาทของกำลังทางอากาศได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ซึ่งทำให้ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติเป็นที่ยอมรับและยกย่องเป็นอันมาก ต่อมาทางราชการได้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก” ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้มีความสำคัญเฉพาะทางด้านการทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงแก้ไขการเรียกชื่อกรมอากาศยานทหารบก เป็น “กรมอากาศยาน”และเป็น “กรมทหารอากาศ” ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบจากสีเขียวมาเป็นสีเทา ดังเช่นปัจจุบันต่อมากระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะ กรมทหารอากาศ ขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ ภายหลังจึงได้กำหนดให้ วันที่ ๙ เมษายน ของทุกปี เป็น “วันกองทัพอากาศ”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้เสริมสร้างและพัฒนากำลังทางอากาศให้มีความเข้มแข็งและทันสมัย เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค” โดยกำหนดยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ ๒๐ ปี เพื่อขับเคลื่อนและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี โดย “มุ่งมั่น” พัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนโดยสานงานเดิมเสริมความเข้มแข็งในทุกมิติ และสร้างพื้นฐานการพัฒนาในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความ “มั่นคง” ในการเป็นทหารอาชีพอย่างภาคภูมิและสมเกียรติ เพื่อให้ประชาชน “มั่นใจ” ว่ากองทัพอากาศมีความพร้อม ในการปกป้องคุ้มครองผืนแผ่นดินและน่านฟ้าไทย รวมถึงการรักษาเอกราช ราชบัลลังก์และอธิปไตยของชาติไว้ให้มั่นคงยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติและนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ เพื่อยังความผาสุกมาสู่พี่น้องประชาชนและประเทศชาติตลอดไป
ภาพ - ข่าวโดยแผนกกิจการพลเรือนกองบิน ๔๑